เทคนิค! เขียนจดหมายแนะนำให้นักเรียนไปเรียนต่อ ต้องเขียนยังไง?

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com วันนี้เรามาดูเรื่องเอกสารสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องใช้เวลาสมัครเรียนต่อต่างประเทศไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม นั่นคือจดหมายแนะนำจากอาจารย์ค่ะ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีปัญหาพอสมควรเพราะมีน้องๆ หลายคนถาม พี่พิซซ่า เข้ามาว่าอาจารย์ไม่รู้จะเขียนยังไงดี ตัวน้องเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน ฉะนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับจดหมายแนะนำกันดีกว่าค่ะ

     การเขียนจดหมายแนะนำตัวนั้นมีขึ้นเพราะสถาบันที่น้องๆ อยากเรียนต่ออยากรู้ว่าน้องเป็นคนยังไง และอยากได้ข้อมูลจากมุมมองของผู้สอนในสถาบันเก่าของน้องค่ะ นี่จะเป็นคะแนนอีกส่วนที่สำคัญมากกับการเรียนต่อของน้อง ถ้าจดหมายแนะนำจากอาจารย์เขียนออกมาได้ดี สนับสนุนให้น้องได้เรียนต่อ และรวมข้อดีของน้องที่เหมาะกับหลักสูตรที่จะเรียนต่อแล้ว น้องก็จะโดดเด่นเตะตาคณะกรรมการคัดเลือกนักศึกษาใหม่มากขึ้นเลยทีเดียว


ปัญหาที่หลายคนพบ

1. อาจารย์เขียนจดหมายแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้
     ปัญหานี้มีทางแก้ไม่ยากเลย ให้อาจารย์ท่านเขียนจดหมายแนะนำเป็นภาษาไทยมาแทนก็ได้ค่ะ แล้วน้องค่อยเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่นที่จำเป็น) หรือจะส่งร้านรับแปลก็ได้ จากนั้นก็นำฉบับแปลกลับมาให้อาจารย์ลงชื่อรับรอง

2. อาจารย์บอกว่าเขียนเองมาเลยเดี๋ยวเซ็นให้
     วิธีนี้บอกเลยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องค่ะ เพราะจดหมายแนะนำที่ดีควรเป็นสิ่งที่เล่าเรื่องน้องผ่านสายตาอาจารย์ ไม่ใช่ให้เราอวยตัวเอง ดังนั้นเวลาเลือกอาจารย์ที่จะขอจดหมายแนะนำ ให้น้องๆ เลือกโดยพิจารณาว่าอาจารย์รู้จักน้องระดับไหนและอาจารย์น่าจะสามารถเขียนจดหมายแนะนำให้น้องได้หรือไม่ ถึงอาจารย์ไม่ถนัดภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ปัญหาค่ะ เขียนเป็นภาษาไทยแล้วเอาไปแปลแบบข้อแรกก็ได้ แต่สิ่งที่ถูกต้องคืออาจารย์ท่านต้องเป็นคนเขียนเองเท่านั้นค่ะ

3. ไม่รู้จะเขียนรูปแบบยังไง
     อันนี้ต่างจากการไม่รู้จะเขียนยังไงนะคะ ถ้าแบบนั้นก็ต้องหาอาจารย์ท่านอื่นแทน เพราะอาจารย์ท่านนั้นอาจไม่รู้จักน้องมากพอที่จะเขียนให้ได้ค่ะ แต่อันนี้คือการไม่รู้ว่าจะเขียนฟอร์มยังไง ต้องขึ้นต้นลงท้ายจดหมายแบบไหน ใส่ที่อยู่มุมไหนมั้ย มหาวิทยาลัยส่วนมากจะมีแบบฟอร์มการเขียนจดหมายแนะนำของตัวเองให้ดาวน์โหลดอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีรูปแบบกำหนดมาให้ ก็สามารถหา template ตัวอย่างได้จากอินเทอร์เน็ตเลย โดยน้องๆ ต้องส่งแบบฟอร์มหรือเทมเพลตไปให้อาจารย์ด้วยนะคะ

4. เกรงใจอาจารย์ ไม่กล้าขอให้เขียนให้
     การที่เราขอให้อาจารย์เขียนจดหมายแนะนำให้นั้น ที่จริงแล้วอาจารย์ดีใจนะคะ เพราะมันเป็นการบอกว่าเรานับถืออาจารย์ท่านนั้นมากขนาดไหน ทั้งที่เราเรียนหนังสือมาก็เจออาจารย์เป็นร้อยท่าน แต่จดหมายแนะนำที่สำคัญกับอนาคตของเราสุดๆ เราเลือกให้อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้เขียนให้ อาจารย์จะรู้สึกยินดีอยู่ลึกๆ ค่ะ แต่เราก็ต้องขอให้เหมาะสมนะคะ ควรขอก่อนวันที่จะสมัครอย่างน้อย 2 เดือน และไม่ควรเป็นช่วงใกล้สอบหรือช่วงตรวจข้อสอบเพราะอาจารย์จะยุ่งมาก ยิ่งถ้าเป็นอาจารย์ที่เป็นที่รักของนักเรียนทุกคน และคิดว่าเพื่อนๆ ก็คงขอจดหมายจากอาจารย์ท่านนี้เช่นกันก็ยิ่งต้องขอล่วงหน้านานเข้าไปอีกค่ะ เดี๋ยวอาจารย์จะเขียนไม่ทัน


คำแนะนำสำหรับการเขียนจดหมาย

     ข้อมูลที่สถานศึกษาที่น้องจะเรียนต่อต้องการจากจดหมายแนะนำมีอยู่ 2 ข้อหลักค่ะ นั่นคือ 1. คุณสมบัติ ทักษะ ข้อดี และศักยภาพของน้อง 2. อะไรที่ทำให้น้องเหมาะเรียนต่อในหลักสูตรนั้นๆ แต่ถ้าจะเขียนโต้งๆ ทีละข้อไปเลยมันก็จะไม่ออกมาเป็นจดหมายแนะนำที่ดีและน่าอ่าน ดังนั้นอาจารย์ก็ต้องเขียนออกมาคล้ายเรียงความเหมือนกันค่ะ แบ่งเป็นย่อหน้าต่างๆ ทั้งบทนำ เนื้อหา และสรุป พี่จะแนะนำแนวทางการเขียนแต่ละย่อหน้าให้ดูคร่าวๆ นะคะ ไม่จำเป็นต้องทำตามนี้ก็ได้ค่ะ

     ย่อหน้าบทนำ - แนะนำตัวเองว่าอาจารย์เป็นใคร รู้จักน้องได้ยังไง รู้จักมานานแค่ไหน ข้อมูลรวมๆ ของทักษะและความสามารถอันโดดเด่นของน้อง ซึ่งจะยกตัวอย่างให้ละเอียดมากขึ้นในย่อหน้าถัดๆ ไป
   
     ย่อหน้าเนื้อหา - ส่วนนี้จะมีหลายย่อหน้าด้วยกัน โดยปกติจะอยู่ที่ 2-3 ย่อหน้าค่ะ เป็นส่วนที่ยกตัวอย่างทักษะต่างๆ ของน้องที่พูดไปแล้วในย่อหน้าแรกให้ละเอียดมากขึ้นสมมติมีพูดไว้ว่าน้องเป็นคนเก่งด้านภาษา สามารถพูดและเขียนได้ดีมากๆ ย่อหน้าตรงนี้ก็ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าน้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่น ตอนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์น้องพูดได้ชัดเจนเข้าใจง่ายมาก คนตั้งใจฟังทั้งหอประชุม สามารถตอบคำถามของอาจารย์ได้อย่างดี แถมน้องยังเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์โรงเรียนเคยทำสกู๊ปใหญ่มาแล้วอะไรประมาณนี้
     ส่วนอีกย่อหน้าหนึ่งของส่วนเนื้อหาก็เอาไว้ยกตัวอย่างข้อดีที่ไม่เกี่ยวกับวิชาเรียนโดยตรงเช่น เป็นคนใส่ใจคนอื่น มีอารมณ์ขัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง เปิดใจรับข้อมูลใหม่เสมอ แล้วยกตัวอย่างว่าเวลาทำงานกลุ่มน้องช่วยเหลืองานเสมอ รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้องรับบทเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและปรับปรุงตัวได้โดยร่าเริงค่ะ
    
      ย่อหน้าสรุป - สรุปว่าข้อดีนั้นนี้ทำให้อาจารย์ยินดีที่จะขอแนะนำน้องให้กับหลักสูตรของสถานศึกษานั้น เพราะน้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการเรียนที่นั่น และอาจารย์เชื่อว่าน้องจะทำได้ดีทั้งในการเรียนและในอนาคตต่อจากนั้นแน่นอน ก่อนปิดท้ายว่าหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่ออาจารย์ได้ทาง...

     **ย้ำว่าไม่ต้องแบ่งตามนี้เป๊ะๆ นะคะ อาจารย์บางท่านเริ่มพูดเรื่องข้อดีของนักเรียนในข้อหน้าที่ 2 เลยก็ได้ค่ะ หรือจะมีจำนวนย่อหน้าต่างจากนี้ก็ได้**


ตัวอย่างจดหมายแนะนำ



     อย่างไรก็ตามอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเขียนตามสเต็ปแบบนี้เป๊ะๆ นะคะ เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน อาจารย์แต่ละท่านก็ต่างกัน เมื่อจับคู่กันแล้วยิ่งทำให้มีเรื่องราวไม่เหมือนใครเข้าไปอีก จดหมายแนะนำที่มีเรื่องราวเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองจึงเป็นจดหมายที่น่าอ่านมากที่สุดค่ะ


 


อ้างอิง
isites.harvard.edu, theprofessorisin.com
career.berkeley.edu, blog.prepscholar.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
น้ำเต้าหู้ 3 ม.ค. 64 20:06 น. 3

ยากที่สุดตรงหาอาจารย์ให้เขียนให้ไม่ได้นี่แหละค่ะ อาจารย์ที่พอจะรู้จักเราท่านก็ย้ายรร.ไปแล้ว พอจะมีวิธีในการหาอาจารย์พอจะเขียนให้เราได้มั้ยคะ


0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด